ในยุคที่ค่าครองชีพพุ่งไม่หยุด และงานเสริมกลายเป็นทางรอดของใครหลายคน มิจฉาชีพก็ฉวยโอกาสนี้ปลอมตัวเป็นนายจ้างออนไลน์ เสนองานง่าย ๆ รายได้ดี แลกกับการทำภารกิจเล็กน้อย เช่น กดไลก์ แชร์คลิป หรือให้คะแนนแอป
ฟังดูไม่น่ามีอะไรน่าเป็นห่วงใช่ไหม? แต่เบื้องหลังนั้นคือ กลโกง Task Scam ที่ทำให้เหยื่อหลายรายต้องสูญเงินหลักหมื่นหลักแสน โดยไม่ได้เงินตอบแทนแม้แต่บาทเดียว
Task Scam คืออะไร?

Task Scam คือกลโกงรูปแบบใหม่ที่ใช้ “ความเป็นเกม” (Gamification) เข้ามาช่วยหลอกเหยื่อ โดยมักเริ่มจากการติดต่อผ่านแชต เช่น WhatsApp, Telegram หรือโซเชียลมีเดีย พร้อมข้อเสนอที่ดูน่าสนใจ
เมื่อเหยื่อตอบรับ จะถูกชักชวนให้ทำภารกิจ เช่น กดไลก์หรือคลิกลิงก์ในเว็บไซต์ (ที่ดูเหมือนเว็บจริง เช่น Temu หรือ YouTube) แล้วระบบจะแสดงรายได้สะสมให้เห็นในแอปหลอก ๆ
ในช่วงแรก อาจมี “เงินเข้า” จริงเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
จุดพีคของแผนหลอก คือเมื่อคุณทำภารกิจมากขึ้น ระบบจะขอให้คุณ “เติมเงิน” เพื่อปลดล็อกรายได้ เช่น
- เติมเงินเพื่อเลื่อนเลเวล
- เติมเงินเพื่อปลดโบนัส
- เติมเงินเพื่อ “ถอนเงินออกได้”
โดยปกติแล้วจะให้โอนผ่านคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งติดตามยากและไม่สามารถขอคืนเงินได้ เมื่อคุณโอนปุ๊บ เงินก็หายวับ และรายได้ที่เห็นก็เป็นตัวเลขปลอมทั้งสิ้น
ยิ่งเล่น ยิ่งติด เพราะมันถูกออกแบบมาให้ “ดูเหมือนจะได้เงินจริง”
ความน่ากลัวของ Task Scam คือมันไม่หลอกแบบตรง ๆ แต่ใช้วิธีเล่นกับจิตใจ:
- สร้างแรงจูงใจด้วยยอดเงินปลอมที่ขยับขึ้นเรื่อย ๆ
- ใช้กลุ่มแชต “ผู้ใช้งานคนอื่น” (ที่แท้คือทีมมิจฉาชีพ) มาช่วยโน้มน้าว
- ลากเกมให้ยาวเป็นวันๆ เพื่อให้เหยื่อลงเงินมากขึ้น
กลโกงหางานอื่นที่ควรระวัง
นอกจาก Task Scam ยังมี “งานหลอกลวง” อีกรูปแบบที่ควรระวัง:
- โพสต์งานปลอมบนเว็บจริง แล้วหลอกขอค่าสมัคร ค่าตรวจประวัติ ฯลฯ
- เอเจนซี่ปลอม ที่ติดต่อคุณผ่านแชตหลังจากเห็นเรซูเม่บนเว็บ
- เว็บไซต์งานปลอม ที่ดูเหมือนจริง แต่สร้างขึ้นมาเพื่อล้วงข้อมูลส่วนตัว
วิธีป้องกันตัวจากกลโกงเหล่านี้
- อย่าตอบกลับงานจากคนแปลกหน้า โดยเฉพาะที่ติดต่อผ่านโซเชียล
- ตรวจสอบชื่อบริษัทและผู้ติดต่อบน Google หรือเว็บไซต์จริง
- หากไม่มีขั้นตอนสัมภาษณ์หรือให้เริ่มงานทันทีให้สงสัยไว้ก่อน
- อย่าจ่ายเงินล่วงหน้าเพื่อเริ่มงาน
- อย่าให้ข้อมูลสำคัญ เช่น หมายเลขบัตรประชาชน, รหัส OTP, หรือข้อมูลธนาคารกับผู้ที่คุณไม่รู้จัก
Task Scam คือกลโกงยุคใหม่ที่หลอกเหยื่อด้วยภาพลวงตาแห่ง “รายได้เสริมง่ายๆ” โดยใช้วิธีจำลองเกมมาเป็นเครื่องมือดูดเงิน ผ่านระบบ “เติมเงินเพื่อปลดล็อกกำไร”
แม้คุณจะคิดว่าตัวเองระวังตัวแล้ว แต่การออกแบบของมันสามารถโน้มน้าวได้อย่างแนบเนียน และเมื่อรู้ตัวอีกที เงินก็อาจหายไปแล้ว
อย่าลืม: งานจริงไม่เคยต้อง “จ่ายเงินก่อน” เพื่อจะได้เงินทีหลัง หากเจอข้อเสนอแบบนี้เมื่อไหร่ ให้ถอยทันที
_____________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________
ที่มา: WeLiveSecurity – Task scams: Why you should never pay to get paid