ปัญญาประดิษฐ์ (AI) กลายเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่เติบโตเร็วที่สุดในยุคดิจิทัล เราเห็นเครื่องมือใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการทำงาน การศึกษา และความบันเทิง แต่ในขณะที่ AI กำลังกลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวัน ความเสี่ยงจากการใช้งานก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน
ปัจจุบัน การใช้ AI สร้างมัลแวร์กำลังเป็นเทรนด์ที่น่ากังวลมากขึ้น บทความนี้จะพาคุณทำความเข้าใจว่าเครื่องมือ AI ปลอมมีลักษณะอย่างไร อะไรคือความเสี่ยงที่ต้องระวัง และจะมีแนวทางป้องกันได้อย่างไร เพื่อให้คุณสามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างมั่นใจและปลอดภัยในทุกการใช้งาน
อาชญากรไซเบอร์ใช้ AI ปลอมเป็นเครื่องมือโจมตีอย่างไร?
แฮกเกอร์มักใช้ AI ปลอม เป็นฉากบังหน้าสำหรับแพร่กระจายมัลแวร์ โดยมีวิธีการหลักๆ ดังนี้
เว็บไซต์ฟิชชิ่ง
ในช่วงปลายปี 2023 ESET ตรวจพบและบล็อกความพยายามเข้าถึงเว็บไซต์ฟิชชิ่งมากกว่า 650,000 ครั้ง โดยเว็บไซต์เหล่านี้มักใช้ชื่อที่คล้ายกับ “ChatGPT” หรือสะกดคลาดเคลื่อนเล็กน้อย เช่น “ChapGPT” เพื่อหลอกล่อผู้ใช้ผ่านลิงก์จากโซเชียลมีเดีย อีเมล หรือข้อความบนอุปกรณ์พกพา จุดประสงค์คือหลอกให้เหยื่อดาวน์โหลดมัลแวร์ที่ปลอมตัวเป็นซอฟต์แวร์ AI
ส่วนขยายเบราว์เซอร์ปลอม
ต้นปี 2024 มีการพบส่วนขยายเบราว์เซอร์ปลอมที่แฝงมัลแวร์ “Rilide Stealer V4” ซึ่งถูกโปรโมตผ่านโฆษณาบน Facebook โดยแอบอ้างว่าเป็นลิงก์ทางการของ OpenAI (Sora) หรือ Google (Gemini) แท้จริงแล้ว ส่วนขยายดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อขโมยรหัสผ่านบัญชี Facebook โดยตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2023 พบว่ามีความพยายามติดตั้งมากกว่า 4,000 ครั้ง
แอปพลิเคชันปลอม
รายงานล่าสุดพบว่า แอปพลิเคชันปลอมที่แฝงมัลแวร์กำลังแพร่กระจายทั้งใน Google Play Store และ Apple App Store โดยแอปเหล่านี้มักแอบอ้างว่าเป็นเครื่องมือ AI ขั้นสูง แต่แท้จริงแล้วมีจุดประสงค์เพื่อขโมยข้อมูลสำคัญ เช่น บัญชีผู้ใช้ รหัสผ่าน และข้อมูลทางการเงิน บางแอปยังเรียกเก็บค่าสมัครสมาชิก แต่กลับไม่สามารถใช้งานฟีเจอร์ใดได้จริง
โฆษณาหลอกลวง
อาชญากรไซเบอร์ยังใช้กระแสความนิยมของ AI เป็นเครื่องมือสร้างโฆษณาหลอกลวงผ่าน Facebook Ads โดย Meta ออกมาเตือนว่า โฆษณาบางรายการมีจุดประสงค์เพื่อเจาะบัญชีธุรกิจโดยเฉพาะ แฮกเกอร์จะเข้าควบคุมบัญชีบริษัท และนำไปใช้เพื่อเผยแพร่โฆษณาซอฟต์แวร์ AI ปลอม หลอกให้ผู้ใช้ติดตั้งมัลแวร์โดยไม่รู้ตัว
กลไกของการหลอกลวง
อาชญากรไซเบอร์มักอาศัย หลักจิตวิทยาในการล่อลวงเหยื่อ โดยเน้นเจาะจุดอ่อนอย่าง ความอยากรู้อยากเห็น ความสนใจในเทคโนโลยีใหม่ ๆ และข้อเสนอที่ดูน่าสนใจ พวกเขาออกแบบกลยุทธ์ที่แนบเนียนและดูน่าเชื่อถือ เพื่อโน้มน้าวให้ผู้ใช้งานตัดสินใจอย่างไม่ทันระวัง ผ่านเทคนิคหลักดังต่อไปนี้:
- สร้างความเร่งด่วนและสิ่งจูงใจ: แฮกเกอร์มักใช้โฆษณาหรือข้อความที่อ้างว่าให้ “สิทธิ์เข้าถึงพิเศษ” หรือ “ส่วนลดจำนวนมากในเวลาจำกัด” เพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้รีบตัดสินใจโดยไม่ทันพิจารณาความน่าเชื่อถือของแหล่งที่มา
- การเล่าเรื่องที่แนบเนียน: อาชญากรไซเบอร์ใช้เทคนิคการเขียนขั้นสูง บางกรณีใช้ AI สร้างเนื้อหาที่ดูเหมือนมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เพื่อให้ผู้ใช้เชื่อสนิทใจและคลิกลิงก์หรือดาวน์โหลดไฟล์โดยไม่ระแวง
- ความเร่งรีบ:โดยเฉพาะบนอุปกรณ์มือถือ ผู้ใช้งานมักตอบสนองต่อข้อความหรือโฆษณาอย่างรวดเร็วโดยไม่ตรวจสอบที่มา ซึ่งเพิ่มโอกาสตกเป็นเหยื่อได้ง่ายขึ้น
แฮกเกอร์เหล่านี้มี ความสามารถในการซ่อนร่องรอยและพัฒนาวิธีการหลอกลวงอยู่เสมอโดยปลอมแปลงเครื่องมือ AI ให้ดูเหมือนของจริง เช่น ChatGPT, Sora AI, Midjourney หรือแม้แต่เครื่องมือที่ยังไม่มีอยู่จริง เพื่อหลอกให้ผู้ใช้ติดตั้งมัลแวร์โดยไม่รู้ตัว
ความเสี่ยงจากเครื่องมือ AI ปลอม
ความเสี่ยงจากการตกเป็นเหยื่อของเครื่องมือ AI ปลอมนั้นร้ายแรงกว่าที่คิด หากคุณดาวน์โหลดแอปปลอมหรือคลิกลิงก์ที่เป็นอันตราย อาจนำไปสู่ผลกระทบต่างๆ เช่น:
- มัลแวร์ขโมยข้อมูล (Info-Stealers): สามารถขโมย ข้อมูลบัญชี รหัสผ่าน ข้อมูลบัตรเครดิต และกระเป๋าเงินคริปโต
- Ransomware และ Remote Access Trojans (RATs): เปิดช่องทางให้แฮกเกอร์ เข้าควบคุมอุปกรณ์จากระยะไกล ขโมยข้อมูล ลักลอบเข้าถึงระบบ หรือใช้เป็นช่องทางโจมตีองค์กรที่เกี่ยวข้อง
วิธีป้องกันตัวเองจากเครื่องมือ AI ปลอม
ดาวน์โหลดแอปจากแหล่งที่เชื่อถือได้
ติดตั้งแอปพลิเคชันจาก Google Play หรือ Apple App Store เท่านั้น เนื่องจากแพลตฟอร์มเหล่านี้มีมาตรการตรวจสอบความปลอดภัยที่รัดกุม ช่วยลดโอกาสในการติดตั้งแอปที่แฝงมัลแวร์หรือพฤติกรรมที่เป็นอันตราย
ตรวจสอบนักพัฒนาและรีวิวก่อนติดตั้ง
ก่อนดาวน์โหลดแอป ควรพิจารณาข้อมูลของนักพัฒนา อ่านรีวิวจากผู้ใช้งาน และตรวจสอบความน่าเชื่อถือของแอป หากข้อมูลดูไม่โปร่งใสหรือไม่มีประวัติผลงานที่ชัดเจน ควรหลีกเลี่ยง
ระวังโฆษณาหลอกลวง
หลีกเลี่ยงการคลิกลิงก์จากโฆษณาที่ชวนให้เข้าถึงเครื่องมือ AI ก่อนใคร หรือเสนอสิทธิพิเศษที่ดูเกินจริง ควรค้นหาข้อมูลแอปจากเว็บไซต์หรือแหล่งที่มาทางการโดยตรง เพื่อป้องกันการถูกหลอก
ตรวจสอบส่วนขยายของเบราว์เซอร์
เลือกใช้ส่วนขยายจากนักพัฒนาที่ได้รับความน่าเชื่อถือและมีคะแนนรีวิวสูง ตรวจสอบรายละเอียดและความคิดเห็นของผู้ใช้ก่อนตัดสินใจติดตั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงส่วนขยายที่อาจแฝงมัลแวร์
ใช้ซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัยที่เชื่อถือได้
ติดตั้งโปรแกรมแอนติไวรัสและแอนตี้มัลแวร์ที่มีฟีเจอร์ป้องกันฟิชชิ่ง พร้อมรับการอัปเดตล่าสุดอยู่เสมอ เพื่อป้องกันภัยคุกคามที่อาจแฝงมากับเครื่องมือ AI ปลอม
ระวังอีเมลและข้อความฟิชชิ่ง
หลีกเลี่ยงการเปิดลิงก์หรือดาวน์โหลดไฟล์แนบจากอีเมลและข้อความที่ไม่ได้ร้องขอ ตรวจสอบที่อยู่อีเมลผู้ส่ง รวมถึงเนื้อหาภายใน เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นการติดต่อจากแหล่งที่เชื่อถือได้
เปิดใช้งานการยืนยันตัวตนหลายขั้นตอน (MFA)
เสริมความปลอดภัยให้บัญชีของคุณ ด้วยการเปิดใช้งานระบบยืนยันตัวตนแบบหลายชั้น (Multi-Factor Authentication) ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้ผู้อื่นเข้าถึงบัญชีได้ แม้จะมีรหัสผ่านก็ตาม
ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับ AI และความปลอดภัยทางไซเบอร์
อัปเดตข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องมือ AI และแนวโน้มภัยคุกคามใหม่ๆ จากแหล่งข่าวหรือองค์กรที่เชื่อถือได้ เช่น เว็บไซต์ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ด้านความปลอดภัยหรือหน่วยงานด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้
เมื่อเทคโนโลยี AI โดยเฉพาะ GenAI พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว กลุ่มมิจฉาชีพก็พัฒนาเทคนิคใหม่ๆ เพื่อใช้ AI ปลอมเป็นเครื่องมือโจมตีเช่นกัน ดังนั้น ควรเพิ่มความระมัดระวังในทุกขั้นตอนการใช้งาน จึงเป็นกุญแจสำคัญในการปกป้องข้อมูลและอุปกรณ์ของคุณให้ปลอดภัยอยู่เสมอ